สัมผัสแรกในวิทยาลัยครูพระนคร (๒๕๐๙)

สัมผัสแรกในวิทยาลัยครูพระนคร (๒๕๐๙)

เมื่อประมาณกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๙  ผมได้เดินทางมารายงานตัวเพื่อเข้าเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพครูชั้นสูง อุตสาหกรรมศิลป์ วิทยาลัยครูพระนคร  ซึ่งได้เปลี่ยนวิทยฐานะใหม่จากโรงเรียนฝึกหัดครูพระนครเป็นวิทยาลัยครูพระนคร เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคมมานี่เอง  เป็นผลมาจากการเปิดเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพการศึกษาชั้นสูง (ปกศ.สูง) วิชาเอก อุตสาหกรรมศิลป์ ซึ่งเป็นวิชาเอกเดียวในขณะนั้น  ความรู้สึกจากการเดินทางมารายงานตัว จากวงเวียนน้ำพุราชเทวี ผ่านอนุสาวรีย์ ชัยสมรภูมิไปตามถนนพหลโยธิน เริ่มแรกมีตึกรามบ้านช่องในขณะนั้นมีเพียง ๒ ชั้น ๓ ชั้น ขึ้นอยู่เรียงราย และเริ่มห่างขึ้น ๆ เมื่อผ่านสะพานควายออกมา ผ่านสามแยกลาดพร้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถนนจะเริ่มแคบมีต้นก้ามปูขนาดสองคนโอบขึ้นอยู่เรียงราย เลยออกไปจะมีคูระบายน้ำ กว้างประมาณ ๔ – ๕ เมตร ตลอดระยะทาง ผ่านบางบัวจนกระทั่งถึงวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารและสี่แยกอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (ต่อมาพวกเราเรียกว่า โค้งมะขาม เนื่องจากโดยรอบของอนุสาวรีย์จะตัดเป็นทางโค้งเป็นวงกลมเท่ากับวงเวียนในปัจจุบัน ขณะเดียวกันจะปลูกต้นมะขามไว้โดยรอบ) พอถึงสี่แยกจะเลี้ยวซ้าย ผ่านเข้าถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งมีทัศนียภาพใกล้เคียงกับถนนพหลโยธิน แต่ถนนแคบลงมีต้นก้ามปูขึ้นประปราย มีเพียง ๒ – ๓ ต้นเท่านั้น  และมี คูน้ำโดยเฉพาะทางด้านซ้ายมือติดกับวงเวียนจะเป็นพื้นที่ว่างมีลักษณะชุ่มน้ำ เนื่องจากเป็นผืนนาเก่า มีต้นกกสามเหลี่ยม และต้นปรงขึ้นเต็มพื้นที่ แซมด้วยต้นสะแกเป็นหย่อม ๆ ไปจนถึงรั้วของโรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร  ส่วนทางด้านขวามือมีห้องแถวเรือนไม้ ๒ ชั้น ขนานตามแนวถนน ความยาวประมาณ ๑๐ ห้อง แถวบ้านเรียกว่าห้องแถวแดง  ถัดจากห้องแถวก็เป็นที่ว่าง จนกระทั่งเลยโรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร  ผมได้ยินพี่ชายพูดว่า  ถึงแล้ววิทยาลัยครูพระนคร ผมสังเกตเห็นว่าริมถนนก่อนถึงประตูทางเข้าวิทยาลัยครูพระนครจะเป็นคูน้ำที่สะอาด น้ำใส มีดอกบัวขาวบานในผิวน้ำไปตลอดแนวรั้วด้านหน้าของโรงเรียน

เมื่อรถเลี้ยวซ้ายผ่านประตูวิทยาลัยครูพระนครแล้ว ผมรู้สึกตื่นเต้นตามประสาของนักเรียนบ้านนอกเข้ากรุงครั้งแรก แต่ความรู้สึกตอนนั้นรู้สึกว่า ผมกำลังสอดส่ายสายตามองหาเสาธงของวิทยาลัยครู เพราะว่าโรงเรียนหรือสถานที่ราชการทั่วไป เสาธงจะเป็นลักษณะบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของสถานที่ราชการและมักจะติดตั้งอยู่ด้านติดกับถนนใหญ่ หรือด้านหน้าอาคารสำนักงาน  แต่ที่นี่ไม่มีเสาธงเลย (รู้สึกผิดหวังเล็กน้อย)  ความรู้สึกได้กลับมาสู่ ณ ที่เดิมคือ เริ่มต้นที่ประตูทางเข้า คือประตู ๑ ผ่านถนนคอนกรีตกว้างประมาณ ๕ เมตร  ผมสังเกตเห็นว่า ด้านซ้ายมีบ่อน้ำถัดไปเป็นสนามฟุตบอลที่มีต้นหญ้าขนขึ้นยาวเต็มไปหมด ที่รู้ว่าสนามฟุตบอลคือ มีประตูฟุตบอลทาสีขาว ๆ อยู่ทั้ง ๒ ด้านเท่านั้น  ส่วนด้านขวามือลึกเข้าไปเท่า ๆ กับ ความยาวของสระน้ำด้านซ้ายมือเป็นที่ว่าง มีป่าสะแกขึ้น ไม่หนาทึบนัก เลยเข้ามาก่อนถึงทางแยกไปสนามฟุตบอล   ด้านขวามือจะมีอาคารเรียน ๒ ชั้น (อาคาร ๓) มีสนามหญ้าอยู่หน้าอาคารเรียน เรียบมาก หญ้าตัดเรียบ (ในใจนึกว่าน่าเตะฟุตบอลเหลือเกิน)  ลึกเข้าไปสุดของตัวอาคาร ๓ ด้านขวามือจะมีเสาธงของวิทยาลัยครูพระนครตั้งเด่นอยู่ (รู้สึกใจชื้นขึ้นมาหน่อย ในใจคิดว่าทำไมเสาธงถึงมาอยู่ลึกเข้ามาไกลจากถนนมากปานนี้และทำไมอาคารเรียนหันหลังให้ถนนใหญ่ คือ ถนนแจ้งวัฒนะ) ในช่วงนี้เดือนพฤษภาคม เป็นช่วงหน้าแล้ง ที่อาคาร ๓ ได้ปลูกต้นเฟื่องฟ้าไว้บริเวณทางขึ้นอาคาร  ดังนั้นช่วงนี้ต้นเฟื่องฟ้าออกดอกบานสะพรั่งเป็นสีชมพูอมแดงสวยงามมาก เป็นที่น่าประทับใจมาก  ตรงหน้าอาคาร ๓ เป็นที่ตั้งของหอประชุมและโรงอาหารที่วิทยาลัยครูพระนครจัดไว้สำหรับให้นักเรียนทุนอุตสาหกรรมศิลป์รายงานตัว  ขณะนั้นมีเพื่อน ๆ มารายงานตัวก่อนหน้าประมาณ ๔ – ๕ คน และนั่งกรอกเอกสารรายงานตัวอยู่ จำได้ว่าพวกเราต้องจ่ายเงินรายงานตัวคนละ ๑๐๐ บาท เท่านั้น เป็นค่าประกันของเสียหาย (ได้รับคืนเมื่อสำเร็จการศึกษา)

เมื่อรายงานตัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาจารย์ประจำหอพักได้นำพวกเราไปยังหอพัก สมัยนั้นเรียกว่า หอ ๑ ปัจจุบันคือ อาคาร ๕  หอ ๑ เป็นอาคารหลังแรกที่ก่อสร้างขึ้นสถานที่นี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗  เป็นอาคารที่มีโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนตัวพื้นและโครงหลังคาเป็นไม้  โดยเฉพาะพื้นเป็นไม้สักทองทั้งหมด  หลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ เป็นรูปทรงที่นิยมสร้างอาคารของราชการกันมาก สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม   มุงด้วยกระเบื้องวิบูลย์ศรี สีแดง  อาคารหลังนี้มี ๒ ชั้น ชั้นล่างด้านทิศตะวันออกของอาคารเป็นห้องสมุด และเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระพิฆเนศวรองค์ปัจจุบัน (สมัยนั้นยังไม่ก่อสร้างซุ้มที่ประดิษฐาน)  ส่วนด้านทิศตะวันตกจะเป็นห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้นบนเป็นที่ใช้สอยของนักศึกษา หอพักแบ่งออกเป็น ๓ ห้อง ห้องด้านทิศตะวันออกเป็นที่สำหรับเรียนลำพัง (เป็นห้องจัดไว้สำหรับอ่านหนังสือของนักเรียนหอพักหรือกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ประชุมและสวดมนต์ก่อนนอน  ห้องกลางใช้สำหรับเก็บเสื้อผ้า เครื่องใช้ของนักศึกษา และห้องด้านทิศตะวันตกเป็นห้องนอน รองรับนักศึกษาอุตสาหกรรมศิลป์รวม ๕๔ คน ได้ทั้งหมด  ที่นอนจัดเป็นเตียงนอนไม้สัก จัดเป็น ๒ แถว แยกเป็นด้านทิศเหนือและทิศใต้ แถวละ ๒๗ คน ส่วนหอพักอีกหลังหนึ่งเรียกว่า หอ ๒ เป็นที่พักของนักศึกษารุ่นน้อง (ป.กศ.ปีที่ ๑ และ ปีที่ ๒) เป็นอาคารที่มีลักษณะเหมือนกันอยู่ถัดเข้าไปด้านใน สภาพโดยทั่วไปของอาคารหอนอน ๑ ด้านหน้าจะเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ ในสมัยนั้นสภาพน้ำดีมาก มีสะพานไม้ยื่นออกไปในน้ำประมาณ ๖ เมตร สมัยนั้นพวกเราใช้แก้ขัดในกรณีที่น้ำประปาไม่ไหล เนื่องจากไฟฟ้าดับเป็นเวลานาน ๆ (กำลังไฟฟ้าไม่เสถียรเหมือนปัจจุบัน ถ้าดับต้องใช้เวลาเป็นวันๆ )

เมื่อเข้าหอพักเรียบร้อยแล้ว จึงรู้สึกหิวข้าว มื้อนี้วิทยาลัยยังไม่เลี้ยง อาจารย์แนะนำว่าให้ไปกินที่ร้านอาหารของคนงาน มี ๒ ร้าน จึงเดินออกมาตามทางเดิน หอประชุมและโรงอาหารที่ใช้รายงานตัว จึงทราบว่าใกล้หอประชุม/โรงอาหารดังกล่าว  มีโรงครัวสำหรับหุงต้มอาหารสำหรับเลี้ยงนักศึกษาที่อยู่หอพัก เมื่อเดินออกมาถึงถนนเมนทางเข้า จึงไปกินข้าวที่ร้านที่มีหอส่งน้ำประปาที่โรงเรียนขุดบ่อบาดาลสำหรับใช้เองในขณะนั้น  เมื่อกินข้าวเสร็จ ส่งพี่ชายที่ขับรถมาส่งเรียบร้อยแล้ว ผมจึงเดินสำรวจสถานที่โดยเดินต่อไปจากหอส่งน้ำเข้าไปซึ่งเป็นทางลูกรังเพราะถนนคอนกรีตทางเข้าสิ้นสุดแค่ทางเข้าหอประชุมและโรงอาหารเท่านั้น  พอเลยหอส่งน้ำไปพบว่าทั้ง ๒ ข้างทางเป็นนาข้าว  คนงานเล่าให้ฟังว่าเป็นสถานที่ฝึกให้นักเรียนปลูกข้าวของนักศึกษาที่เรียนวิชาเกษตรเลยไปถึงทางโค้งเลี้ยวซ้ายออกไปทางสุสานกองทัพอากาศ เป็นหมู่บ้านพักอาจารย์ซึ่งขณะนั้นมีเพียงไม่กี่หลัง  ด้านขวามือมี ๔ หลัง ด้านติดกับสุสานจะมีที่เก็บศพทหารวางเรียงรายตามแนวรั้วระหว่างที่ตั้งของสุสานและของวิทยาลัยครูพระนคร  สมัยนั้นยังไม่มีรั้วกั้นชัดเจนเช่นปัจจุบัน เส้นทางด้านนี้เป็นเส้นทางหนึ่งที่นักศึกษาใช้เป็นเส้นทางเดิน แต่ค่อนข้างน้อยมาก โดยเฉพาะมืดแล้วคงจะเกรงใจที่เก็บศพทหารกระมัง

เมื่อตอนขาเข้าเนื่องจากนั่งรถเก๋งของพี่ชายเข้ามาจึงไม่ได้สังเกตอะไรมากมาย ก็เดินกลับมาด้านหน้า พอถึงโรงอาหาร หอประชุม ก่อนถึงทางแยกเข้าหอประชุมพบว่า เป็นจุดสิ้นสุดของถนนคอนกรีตที่เข้ามาจากปากทางเข้า (ประตู ๑)  ถ้าแยกไปด้านขวามือ  จะแยกไปสนามกีฬาของวิทยาลัยครูพระนคร ด้านซ้ายมือจะมีอาคารเล็ก ๆ เป็นอาคารไม้กั้นเป็นห้อง แต่สภาพค่อนข้างผุพัง เคยเป็นห้องน้ำของนักกีฬา ถัดออกไปทางซ้ายมือเป็นสนามฟุตบอลที่ได้กล่าวในขั้นต้นว่า หญ้าขนขึ้นเต็มหากเดินเข้าไปยาวเกือบถึงเอว และจะมีสนามบาสเกตบอลอยู่ติดกับสนามฟุตบอล ส่วนด้านขวามือเป็นที่ถมแล้ว  และไม่มีสิ่งก่อสร้างใด ๆ หากเราเดินต่อไปจะเป็นเส้นทางไปยังโรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารและบ้านพักครู  และมีเส้นทางเดินเลียบขอบสระน้ำของวัดพระศรีออกไปถึงป้ายรถเมล์หน้าอำเภอบางเขน เป็นป้ายรถเมล์ขนาดใหญ่ในขณะนั้นมีร้านค้าขายของหลายร้าน เพราะว่าเป็นชุมทางที่จะเดินทางไปปากเกร็ด มีนบุรี ดอนเมือง และรังสิต  เส้นทางเดินเส้นนี้เป็นทางเดินที่นักศึกษาใช้มากที่สุด ยกเว้นกลางคืนเพราะว่าริมขอบสระน้ำมีต้นสะแกขึ้นตลอดแนว มันน่ากลัวตอนลมพัดกิ่งไม้ไหว มันเหมือนอะไรก็ไม่รู้ บอกไม่ถูก

หากเราเดินจากทางแยกสนามฟุตบอลไปทางด้านหน้าประตูทางเข้า (สมัยนั้นใช้เพียงประตูเดียว) ด้านซ้ายมือจะมองเห็นอาคาร ๓ ระเบียงอาคารเดียวริมขอบถนนคอนกรีตจะปลูกต้นชงโคไว้ตลอดแนว ถัดจากต้นชงโค ลงไปจะเป็นแนวคูน้ำตลอด มีอยู่ช่วงหนึ่งตรงกับทางเดินด้านหลังอาคาร ๓ จึงเป็นทางเดินขึ้นต่ออาคารด้านหลัง มีสะพานไม้กว้างประมาณ ๓ เมตร เพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์ข้ามไป  สะพานนี้มีลักษณะพิเศษคือ จะเป็นซุ้มมีหลังคาตีด้วยไม้ระแนง ได้ใส่ที่ปลูกต้นไม้ คือ ต้นกระดังงา หากเดินผ่านหรือหยุดนั่งที่ทำเป็นที่นั่งพักไว้ ๒ ด้าน จะมีกลิ่นหอมจางจากดอกกระดังงา  ทำให้เกิดอาการผ่อนคลาย เดินต่อไปจนกระทั่งก่อนถึงประตูข้างนอก ด้านหลังรั้วลวดหนามหน้าวิทยาลัยฯ จะมีคูระบายน้ำกว้างขนาดเดียวกันกับริมถนน คูระบายน้ำนี้จะปลูกต้นมะพร้าวพันธุ์เตี้ยไว้ (ภายหลังได้ตัดโค่นแล้วทำเป็นถนนคอนกรีตประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๘)

ในขณะที่รายตัว อาจารย์ที่รับรายงานตัวได้บอกพวกเราว่า แผนกอุตสาหกรรมศิลป์ที่พวกเราจะเรียนนั้น ให้เดินไปทางด้านทิศตะวันตกของหอประชุมและโรงอาหาร  ด้วยความอยากรู้อยากเห็นสถานที่ที่เราจะเรียนกัน  ก็ชวนเพื่อน ๒ คนเดินไปตามทางที่ท่านอาจารย์ได้บอกไว้ เส้นทางที่จะเดินไปเป็นทางเดินลำลอง ด้านซ้ายมือจะเป็นสระน้ำที่อยู่หน้าอาคารหอพัก ๑ ที่พวกเราพักนั่นเอง มองไปข้างหน้ามีต้นสะแกขนาด ๑ คนโอบขึ้นเต็มพื้นที่ เขียวครึ้มไปหมด เดินผ่านศาลาทรงไทยหลังคาสูงปรี๊ด มีพื้นที่ทรงสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ ๖x๖ เมตร เขียนชื่อศาลาเป็นป้ายห้อยไว้ว่า “ศาลางามจิต” (ปัจจุบันรื้อไปแล้วเพื่อก่อสร้างหอสมุด วค.พระนคร ปัจจุบันคืออาคาร ๒๒)  ถัดจากศาลางามจิตออกไปจะเป็นถนนลูกรังเพิ่งตัดใหม่ และจะมีอาคารที่กำลังก่อสร้าง ๒ หลัง สูง ๒ ชั้น ๑ หลัง (อาคารโรงฝึกงาน ๒ ช่างยนต์) และอาคารสูง ๓ ชั้น ๑ หลัง  (อาคารสำนักงานแผนกวิชาอุตสาหกรรมศิลป์ ช่างไฟฟ้า ช่างเขียนแบบ และ ช่างปั้นดินเผา) ได้เพียงแต่ดูภายนอกเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไป   ดูภายในได้ เนื่องจากกำลังก่อสร้าง ขณะนั้นประมาณได้ว่าก่อสร้างแล้วเสร็จไปประมาณ ๕๐ – ๖๐%

สภาพโดยทั่วไปวิทยาลัยครูพระนครสมัยปี พ.ศ. ๒๕๐๙ นับเป็นวิทยาลัยครูที่มีความร่มเย็นมาก มีต้นไม้คือต้นสะแกขนาด ๐.๐๕ เมตร จำนวนมาก ขึ้นครึ้มไปหมด มีแหล่งน้ำโดยเฉพาะสระน้ำ บ่อน้ำมากมายหลายบ่อ และที่สำคัญคือ สระน้ำแหล่งนั้นสะอาดมาก บางครั้งน้ำไม่ไหลเราสามารถใช้อาบน้ำชำระร่างกายได้ แต่อาจารย์ได้ห้ามพวกเราไว้ ห้ามลงเล่นน้ำในสระโดยเด็ดขาด ทั้งนี้กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จะเกิดขึ้น และพวกเราก็ค่อนข้างจะเชื่อฟังในกฎนี้ค่อนข้างมาก และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลังจากที่เรียนและสำเร็จการศึกษา ป.กศ.สูง, ปริญญาตรี และ ปริญญาโท จากสถานที่แห่งนี้ไปแล้ว ความคิดที่ต้องการที่จะพิสูจน์ทราบว่าอะไรคือเหตุที่ทำให้เสาธงของวิทยาลัยครูพระนครมาตั้งอยู่ด้านใน ทำไมไม่ตั้งอยู่ริมถนนเหมือนกับสถานที่ราชการอื่นๆ ทั่วไป จนกระทั่งได้มีโอกาสที่ได้อ่านจดหมายเหตุของคณะกรรมการที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่งตั้งให้ดำเนินการควบคุมและก่อสร้างวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กล่าวคือ

ที่ดินของวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ

๑. ที่ดินวัด  ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ ๘๑ ไร่เศษ

๒. ที่ดินธรณีสงฆ์  ซึ่งเป็นที่ดินผืนใหญ่ที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สำนักงานการประปาเขตบางเขน และ บริษัท โทรศัพท์ สาขาบางเขน

ที่ดินในส่วนที่เป็นธรณีสงฆ์นั้น ภายหลังที่คณะกรรมการควบคุมและก่อสร้างวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารได้ทำการก่อสร้างวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารใกล้จะแล้วเสร็จ  จึงได้เสนอโครงการกับรัฐบาลว่าจะทำรั้วโดยรอบที่ดินวัด และเสนอโครงการในที่ธรณีสงฆ์ ดำเนินการจัดสร้างวัตถุเพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป โดยการจัดแบ่งส่วนที่ดินธรณีสงฆ์ออกเป็น ๔ ส่วน คือ

ส่วนที่ ๑ ก่อสร้างตลาด สำหรับให้ประชาชนมาค้าขาย มีท่าเรือจอด

ส่วนที่ ๒ เป็นโรงพยาบาลสงฆ์ สำหรับรักษาพระสงฆ์อาพาธ

ส่วนที่ ๓ ทำเป็นสวนสาธารณะ เป็นส่วนที่อยู่ติดกับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ให้เป็นที่พักผ่อนของประชาชน

ในเบื้องต้น คณะกรรมการฯ ได้มีมติว่าจะดำเนินการก่อสร้างทั้ง ๓ ส่วนนี้ก่อน แต่เนื่องจากขณะนั้นประเทศอยู่ในภาวะสงคราม แม้สงครามจะสงบแล้ว แต่สภาวะทางเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีงบประมาณดำเนินการ จึงให้ชะลอโครงการนี้ไว้ก่อน

ส่วนที่ ๔ เรียกว่าที่รกร้างว่างเปล่า  เป็นที่ดินส่วนที่อยู่ด้านในที่เหลือจากที่ดินที่กำหนดไว้

ที่ดินส่วนที่ ๔ ส่วนนี้เรียกว่า ที่รกร้างว่างเปล่า นี้เอง เมื่อคราวที่ มล.ปิ่น  มาลากุล ขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้มาอนุโมทนาขอที่ดินจากเจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารองค์แรก (อ้วน ติสสะ) เพื่อสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร เนื่องจากที่เดิมที่วังจันทรเกษมนั้น กระทรวงศึกษาธิการ   จะใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างคุรุสภาซึ่งขณะนั้นขยายตัวอย่างมาก เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารจึงได้อนุญาตให้ทำการก่อสร้างได้ในที่ที่เรียกว่า ที่รกร้างว่างเปล่า นั้นเอง ซึ่งเป็นที่อยู่ถัดเข้ามาภายในจากที่ที่กำหนดไว้ว่าจะสร้างตลาด โรงพยาบาลสงฆ์ และสวนสาธารณะนั่นเอง  บริเวณนี้ สถานที่ก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบการจำนวน ๔ หลังคือ อาคารเรียน ๓ (๒๔๙๙) , อาคารหอพัก ๑ (๒๔๙๕) , อาคารหอพัก ๒ (๒๔๙๗) , หอประชุม (๒๔๙๙) ,  โรงอาหารและโรงครัว (๒๔๙๙) ดังนั้นจึงได้คำตอบว่า เสาธงของวิทยาลัยการฝึกหัดครูพระนครจึงได้มาอยู่ข้างในด้านข้างอาคาร ๓ เป็นคำตอบที่สงสัยมาเป็นเวลา ๔๕ ปี และถามใครก็ให้คำตอบไม่ชัดเจน

ช่วงที่พวกเราเข้ามาเรียนในระยะแรก อาคารสถานที่ (โรงฝึกงาน) ยังไม่พร้อมนัก ดังนั้น การฝึกงานจึงฝึกกันตามปีกอาคาร ใต้ต้นไม้ เป็นต้น แต่พวกเราส่วนใหญ่พอใจ เนื่องจากได้ฝึกงานตามสภาพจริง อย่างไรก็ตาม บรรยากาศทั่วไปของวิทยาลัยครูพระนครในยุคนั้น มีความร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้นานาพรรณ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นสัญลักษณ์ของพระนครในยุคนั้น คือ บัวขาว จะขึ้นในบ่อน้ำหน้าอาคาร ๓ และตามแนวคูน้ำด้านหน้าอาคาร พร้อมชูดอกสีขาวอันบริสุทธิ์สลอนเต็มสระน้ำทำให้พวกเรารู้สึกสดชื่น แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของบ้านเมืองสิ่งที่คุ้นเคยและให้พวกเราเชยชมก็หายไป เพราะสระน้ำถูกถมเป็นถนนหนทางและสร้างอาคาร แต่สิ่งเหล่านั้นยังอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดกาล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิรุตติ  จันทนะทรัพย์

อุตสาหกรรมศิลป์ รุ่น ๑ / ๒๕๐๙

1 Comment

  1. ข้อมูลที่มีค่ามากสำหรับลูกPTC.
    ชาติชาย ภาคีนุยะ อุตสาหกรรมศิลป์รุ่น17
    ลูกศิษย์ อ.นิรุติ

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*